คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมแชร์องค์ความรู้ผ่านการบรรยายพิเศษและการอภิปรายกลุ่ม การเตรียมความพร้อมของวิชาชีพการพยาบาลสู่อนาคต ในงานประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ “การพยาบาลกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสุขภาพ : ทางเลือกและทางรอด (Nursing, Innovation and Health Technology: Alternative and Survival)” จัดโดย สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งดำเนินการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 /2565 ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของวิชาชีพการพยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาล จึงจัดงานประชุมวิชาการเพื่อให้พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรทางสุขภาพ นักศึกษา บุคคลทั่วไป ได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการบริการ รวมถึงการ Upskill และ Reskill เพิ่มศักยภาพการทำงานและพัฒนาคุณภาพการบริการให้ประชาชนมีความปลอดภัยในโลกแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี
โดยการประชุมวิชาการดังกล่าว ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรพิเศษ จากหน่วยงาน องค์กรต่างๆที่หลากหลายและมีความสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพ นับเป็นการผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาพและการพยาบาลของไทย นับเป็นการผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและการพยาบาลของไทย ผ่านรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ (ZOOM Meeting) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจากหน่วยงานสาธารณสุข สถานพยาบาล หน่วยงานด้านสุขภาพจากทั่วประเทศเกือบ 300 ท่าน เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
การประชุมประกอบด้วย 2 ช่วง โดยรอบเช้าเริ่มจากการกล่าวเปิดงานและต้อนรับโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนา ถิ่นกาญจน์ คณบดี สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จากนั้นเป็นการบรรยายความรู้จาก 4 วิทยากรด้านวิชาการทั้งด้านการพยาบาลและด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล, รองศาสตราจารย์ นพ. กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิกุล พรพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล กล่าวถึง “แนวทางและโอกาสของวิชาชีพการพยาบาลในอนาคต” ว่าในปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นับว่ามีความท้าทายอย่างมากต่อการพยาบาล ถือเป็นโอกาสทางวิชาชีพมากกว่าเชิงลบ เพื่อหาแนวทางความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้วยบริบทที่ผ่านมาทำให้วิชาชีพการพยาบาลได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านอัตรากำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งการคัดเลือกนักศึกษาพยาบาล Gen Z ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีในการผลิตพยาบาลในอนาคต เพราะมีความสามารถหลากหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีความรู้และความคิดเชิงวิเคราะห์ พร้อมเสนอแนะทิศทางและโอกาส ทางด้านข้อมูลสุขภาพ ทั้งสังคมเมือง ผู้สูงอายุและด้านต่างๆ อย่างเสมอภาคในการรับข้อมูลต่างๆของประชาชน ซึ่งในส่วนของสภาการพยาบาลก็ได้ระบุสมรรถนะของพยาบาลในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไว้ด้วย
รองศาสตราจารย์ นพ. กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง พยาบาลและนวัตกรรม โดยแบ่งนวัตกรรมออกเป็น 2 แนวทางคือ ด้านสังคมและเทคโนโลยี พร้อมเผยเทรนด์ในอนาคตที่เกิดขึ้นทั้งสถานการณ์ผลพวงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น COVID-19 หรือการบริการแก่ประชาชน โดยให้ความสำคัญกับหลัก Hospitality Care และหลักสูตรด้าน Emotional Intelligence ที่นำมาปรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตามสถานการณ์ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีกับศูนย์บริการสาธารณสุข อาทิ Telecare เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย และยกตัวอย่าง Application ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพูดคุยกับแพทย์และพยาบาล AI NURSE ตอบด้วย Chatbot เป็นอันดับแรกหากมีความซับซ้อนในการรักษาระบบจะส่งต่อไปที่พยาบาลและแพทย์ตามลำดับ ซึ่งเป็นกรณีของการนำร่องการใช้ Total Digital Health Care Solution โดยใช้ดิจิทัลเพื่อเป็นส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสนอแนะแนวทางความรู้โดยยกปัญหา Pain Point ข้อบกพร่องระบบบริการหรือการทำงาน มาปรับปรุงออกแบบวิธีการเพื่อตอบโจทย์ให้แก่ผู้ใช้บริการ การใช้ Lean Management และพร้อมรับมือกับสังคมและเทคโนโลยีในอนาคต
ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บรรยายเรื่อง “นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสุขภาพ” ชี้ถึงเทรนด์สำคัญของนวัตกรรมด้าน Health Care ได้แก่ Big data, Monitoring, AI, VR และ Telemedicine เพื่อปรับตัวและเรียนรู้และจุดประกายกับความคิดแปลกใหม่ของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวในอนาคต ซึ่งการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์และแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงาน สร้างคุณค่า เหมาะสมกับผู้ใช้งาน และระบบต้องตอบโจทย์กับสังคมยุคใหม่ พร้อมทิ้งท้ายว่าการสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องคิดค้นเพียงคนเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือ การเสนอแนะปัญหา และความต้องการใช้งานร่วมกัน เพื่อสามารถผลิตหรือนำออกมาใช้งานได้จริงถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุด
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิกุล พรพิบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บรรยายในหัวข้อ “พยาบาลกับการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในโลกแห่งอนาคต”เผยถึงวิชาชีพการพยาบาลที่ต้องมีการปรับตัวกับนวัตกรรมใหม่ๆ รอบด้านเพิ่มทั้งทักษะและความรู้ให้ทันสมัย ปรับบทบาทและหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ผู้รับบริการอย่างดี โดยนำระบบที่พัฒนาแล้วมาใช้งานให้เกิดประโยชน์และสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังยกตัวอย่างประกอบเพื่อสร้างเข้าใจได้ง่ายให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเพื่อเตรียมพร้อมปรับตัว พร้อมกล่าวถึงแนวโน้มสังคมโลก เทคโนโลยีจะทำให้การร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพเพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น
สำหรับช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายพิเศษ “การเตรียมความพร้อมของวิชาชีพการพยาบาล” จากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รองศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เสนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวมพร คงกำเนิด รักษาการแทนหัวหน้าสาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ดร.ทิวาพร พงษ์มารุทัย Head of Nursing Planning , CP Medical Center ดำเนินการอภิปรายโดย ดร.ฬุฬีญา โอชารส อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยมุ่งเน้นเนื้อหาเชิงกลยุทธ์ ชี้แนะแนวคิด วิธีการทำงานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงข้อจำกัดและบริบทของพยาบาล พร้อมแชร์ประสบการณ์การทำงาน อีกทั้งยังได้มอบแรงบันดาลใจ เปลี่ยนทัศนคติ และเทคนิควิธีการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เสริมแนวทางการผลิตพยาบาล โดยสถาบันการศึกษาต้องเตรียมคนให้พร้อมเป็น Smart Nurse ในยุคดิจิทัลที่ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ และมีทักษะการสื่อสาร และสามารถบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อเป้าหมายให้ผู้รับบริการได้รับการดูแลดีที่สุดในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนั้นสภาวิชาชีพควรมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ปิดท้ายด้วยการตอบทุกข้อสงสัยของผู้เข้าอบรมอย่างชัดเจนและมีประโยชน์ เสนอแนะการแก้ไขปัญหา เพื่อให้นำไปใช้พัฒนาตนเองในวิชาชีพการพยาบาลในแขนงงานต่างๆ ทุกระดับอย่างลึกซึ้ง ทั้งในระดับตนเองและระดับองค์กร โดยงานประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับผลการประเมินความคิดเห็นในภาพรวมการจัดงานอยู่ที่ร้อยละ 94.70 ผ่านการตอบแบบสอบถามภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมจากผู้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ได้รับคำชื่นชมด้านเนื้อหาที่มีความน่าสนใจ อันเป็นประโยชน์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไปและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการจัดกิจกรรมครั้งถัดไป