พิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทย ด้วยงานวิจัยท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
กล่าวรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการสปาไทยด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวัตถุประสงค์ของพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว และรองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ร่วมกล่าวให้การต้อนรับ ในส่วนพิธีการลงนามความร่วมมือ เป็นการจับมือกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. 2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และประธานคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สกสว. 3) สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย นำโดย คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์ฯ 4) สมาคมสปาไทย นำโดย คุณสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมฯ และ 5) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำโดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แจ้งวัฒนะ ตึก CP ALL Academy ชั้น 16 ห้อง Auditorium
การลงนามฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปา ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบการจัดการงานวิจัย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสปาอย่างเป็นระบบ โดยนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ
ภายหลังพิธีลงนามฯ ได้มีการมอบรางวัลสปาต้นแบบตามธาตุเจ้าเรือน ภายใต้โครงการ “การพัฒนาต้นแบบการบริการสปาเพื่อสุขภาพด้วยศาสตร์ภูมิปัญญาไทย ภายใต้ชุดโครงการ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานสากลด้วยภูมิปัญญาไทย และการสร้างความผูกพันในการสร้างเสริมสุขภาพระหว่างและภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 7 สถานประกอบการ ได้แก่ 1) ฟ้าล้านนา สปา 2) ลานนาคำ สปา 3) ศิรา สปา 4) อ่าวนางปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ต แอนด์ สปา 5) เฮลท์ ล้านนา สปา 6) เชียงใหม่ สปามันตรา และ 7) โอเอซิส สปา
ความร่วมมือกันในครั้งนี้ทุกหน่วยงานพร้อมสนับสนุนที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมบริการสปา ผ่านกลไกการวิจัยที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อไป